ความหมาย
ความฉลาดทางดิจิทัล (Digital Intelligence Quotient: DQ) เป็นชุดของความสามารถด้านการรับรู้ สติปัญญา อารมณ์ และสังคมที่จะทำให้คนในยุคดิจิทัล (Digital Citizens) สามารถเผชิญหน้ากับความท้าทายและปรับตัวให้เข้ากับยุคดิจิทัลได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับ The Project DQ ที่ได้ให้ความหมายของความฉลาดทางดิจิทัลว่า หมายถึงภาพรวมของความสามารถทางสังคม อารมณ์ และองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อชีวิตดิจิทัล (Digital Life) การมีความรู้ทักษะและความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับอารมณ์และการปรับพฤติกรรมของผู้คนเพื่อรับมือกับความท้าทายและความต้องการยุคดิจิทัล (ปณิตา วรรณพิรุณ และ นำโชค วัฒนานัณ. 2560 : 13)
องค์ประกอบของความฉลาดทางดิจิทัล
ปณิตา วรรณพิรุณ และ นำโชค วัฒนานัณ. (2560 : 13-15) และ Park(2016 : 1) ได้กล่าวถึงองค์ประกอบของความฉลาดทางดิจิทัลไว้เหมือนกัน ซึ่งประกอบด้วยทักษะ 8 ด้าน ดังนี้
- การแสดงตัวตนบนโลกดิจิทัล (Digital Identity) หมายถึง ความสามารถในการสร้างและจัดการอัตลักษณ์ เอกลักษณ์ รวมถึงชื่อเสียงบนโลกออนไลน์ ความตระหนักในเรื่อง
ของบุคลิกภาพ การแสดงออกและการจัดการผลกระทบที่เกิดจากการแสดงตัวตนบนโลกออนไลน์
ทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว แบ่งเป็น 3 ปัจจัย คือ
- ความเป็นพลเมืองดิจิทัล (Digital Citizen)
- ความเป็นผู้สร้างสรรค์ดิจิทัล (Digital Co-Creator)
- ความเป็นผู้ประกอบการดิจิทัล (Digital Entrepreneur)
- การใช้เครื่องมือและสื่อดิจิทัล (Digital Use) หมายถึง ความสามารถในการใช้งาน
การควบคุมและการจัดการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลและสื่อดิจิทัลเพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างชีวิตออนไลน์
และออฟไลน์เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด แบ่งเป็น 3 ปัจจัย คือ
- การบริหารจัดการเวลาบนโลกดิจิทัล (Screen Time)
- สุขภาพบนโลกดิจิทัล (Digital Health)
- การมีส่วนร่วมในชุมชนดิจิทัล (Community Participation)
- ความปลอดภัยทางดิจิทัล (Digital Safety) หมายถึง ความสามารถในการจัดการ
ความเสี่ยงในโลกออนไลน์ เช่น การกลั่นแกล้งบนอินเทอร์เน็ต (Cyberbullying) การล่อลวง
การคุกคาม การเข้าถึงเนื้อหาที่ผิดกฎหมายหรือเป็นอันตราย เช่น เนื้อหาที่มีความรุนแรงและ
หยาบคาย สื่อลามกอนาจาร รวมถึงการหลีกเลี่ยง จำกัดและจัดการความเสี่ยงต่าง ๆ บนโลกออนไลน์ แบ่งเป็น 3 องค์ประกอบคือ
- ความเสี่ยงจากพฤติกรรมการใช้งาน (Behavioral Risks)
- ความเสี่ยงจากเนื้อหา (Content Risks)
- ความเสี่ยงจากการติดต่อกับคน (Content Risks)
- ความมั่นคงปลอดภัยทางดิจิทัล (Digital Security) หมายถึง ความสามารถใน
การตรวจจับภัยคุกคามในโลกไซเบอร์ เช่น การแฮ็ก (Hacking) การหลอกลวง (Scams) และมัลแวร์ (Malware) เพื่อทำความเข้าใจ เลือกแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดและเลือกใช้เครื่องมือในการรักษา
ความปลอดภัยที่เหมาะสมสำหรับปกป้องข้อมูล
ความมั่นคงปลอดภัยทางโลกดิจิทัล ครอบคลุมถึงความมั่นคงปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เช่น การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ การป้องกันภัยและควบคุมการทำรายการผ่านระบบออนไลน์ การป้องกัน การละเมิดข้อมูล มาตรฐานที่เกี่ยวข้องและวิธีการจัดการความปลอดภัยและความเชื่อมั่นของผู้ใช้
ความมั่นคงปลอดภัยทางดิจิทัล แบ่งเป็น 3 ปัจจัย คือ
- การป้องกันรหัสผ่าน (Password Protection)
- ความมั่นคงปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ต (Internet Security)
- ความมั่นคงปลอดภัยทางโทรศัพท์มือถือ (Mobile Security)
- ความฉลาดทางอารมณ์บนโลกดิจิทัล (Digital Emotional Intelligence) หมายถึง ความสามารถในการเข้าสังคมบนโลกออนไลน์ ได้แก่ การเอาใจใส่ การเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น การเห็นใจ การแสดงน้ำใจ การช่วยเหลือและการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลอื่น ๆ ในโลกออนไลน์ แบ่งเป็น 3 ปัจจัย คือ
- ความเข้าใจ เห็นใจ มีน้ำใจต่อผู้อื่นบนโลกดิจิทัล (Empathy)
- ความตระหนักและการควบคุมอารมณ์ (Emotional Awareness and Regulation)
- ความตระหนักด้านอารมณ์และสังคม (Social and Emotional Awareness)
- การสื่อสารดิจิทัล (Digital Communication) หมายถึง ความสามารถในการสื่อสาร การปฏิสัมพันธ์ และทำงานร่วมกันกับผู้อื่นโดยใช้เทคโนโลยีและสื่อดิจิทัล แบ่งเป็น 3 ปัจจัย คือ
- รอยเท้าหรือร่องรอยดิจิทัล (Digital Footprint)
- การติดต่อสื่อสารออนไลน์ (Online Communication)
- ร่วมมือออนไลน์ (Online Collaboration)
- การรู้ดิจิทัล (Digital literacy) หมายถึง ความสามารถในการค้นหา (Find)
การประเมินผล (Evaluate) การใช้ประโยชน์ (Utilize) การแบ่งปัน (Share) และสร้างสรรค์
เนื้อหา (Create) รวมทั้งความสามารถในการประมวลผล การคิดคำนวณอย่างเป็นระบบ แบ่งเป็น
3 ปัจจัย คือ
- การคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking)
- การสร้างสรรค์เนื้อหา (Content Creation)
- การคิดเชิงประมวลผล (Computational Thinking)
- สิทธิทางดิจิทัล (Digital Rights) หมายถึง ความสามารถในการเข้าใจและรักษาสิทธิส่วนบุคคลของตนเอง สิทธิเสรีภาพตามกฎหมาย รวมถึงสิทธิในความเป็นส่วนตัว ทรัพย์สินทางปัญญา เสรีภาพในการพูด การแสดงความคิดเห็นและการป้องกันตนเอง จากคำพูดที่แสดงถึงความเกลียดชัง แบ่งเป็น 3 ปัจจัย คือ
- เสรีภาพในการพูด (Freedom of Speech)
- สิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Rights)
- ความเป็นส่วนตัว (Privacy)